นางสาวเสาวลักษณ์ พรมทา 52010916279_G4

ปฎิทิน

บล็อกนี้ได้จัดทำำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนรายวิชา อินเหตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจการเงินที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

เกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจการเงินที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์
    ธนาคารพาณิชย์มี 4 ประเภท คือ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (Retail Bank) ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (Subsidiary) และสาขาของธนาคารต่างประเทศ (Branch)
การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ พิจารณาจากความเหมาะสมของโครงสร้างผู้ถือหุ้น
และแหล่งที่มาของเงินทุน แผนงานและการควบคุมภายใน รวมถึงข้อกำหนดของคุณสมบัติที่จำเป็นและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ และผู้บริหาร และในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นธนาคารต่างประเทศ ต้องได้รับอนุมัติจากผู้กำกับในประเทศของตนให้ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นได้

2. ขอบเขตธุรกิจของธนาคารพาณิชย์
    นอกเหนือจากธุรกิจพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ เช่น การรับฝากเงิน และการให้สินเชื่อ เป็นต้น ธปท. ยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์
ประกอบ "ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการธนาคารพาณิชย์" โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของธุรกรรม การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและประโยชน์จากการให้บริการ โดยธุรกิจที่ ธปท. อนุญาตเพิ่มเติม 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ หลักทรัพย์ ธุรกิจอนุพันธ์ทางการเงิน ธุรกิจธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (e-banking) ธุรกิจการเงินและธุรกิจการให้บริการอื่น

3. การกำกับแบบรวมกลุ่ม
    ปัจจุบันสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ได้มีการดำเนินธุรกิจแบบเครือข่าย หรือกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งก่อให้เกิด
ความเสี่ยงทางธุรกิจเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจตามปกติ การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์กรเดี่ยว (Solo Basis)
อาจไม่เพียงพอ ธปท. จึงได้ขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงกลุ่มธุรกิจทางการเงิน โดยปัจจุบัน ธปท. ได้เริ่มใช้การกำกับดูแล
แบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) กับธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศก่อนซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดให้โครงสร้างของกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ก่อนและต้องดำรงเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า
ร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์เสี่ยงของทั้งกลุ่ม รวมทั้งปฏิบัติตามเกณฑ์เชิงคุณภาพ เช่น การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุม
ภายในของกลุ่มธุรกิจที่เพียงพอ รวมทั้งดูแลกลุ่มธุรกิจให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ ธปท. และนโยบายของบริษัทแม่ และส่งข้อมูล
ของกลุ่มฯให้ ธปท. ตรวจสอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้ธุรกรรมมีการกระจุกตัว ธปท. จึงกำหนดให้กลุ่มฯ ดูแลการให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพันกับบุคคลภายนอกหรือกลุ่ม
ของบุคคลภายนอก (Large Exposure) และบริษัทภายในกลุ่ม (Intragroup Transaction)ไม่เกินอัตราที่ ธปท. กำหนดและ
ต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีธรรมาภิบาลที่ดี

4. ความเสี่ยงด้านเครดิต
    ความเสี่ยงด้านเครดิต หมายถึง ความเสี่ยงที่ลูกหนี้หรือคู่สัญญาของธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้
สินเชื่อ การลงทุน และการก่อภาระผูกพัน เช่น ลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้กับธนาคารพาณิชย์ได้ ทำให้
ธนาคารพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อฐานะความมั่นคง ความเชื่อมั่นและ
ชื่อเสียงของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตจะมีความรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินเชื่อและเงินลงทุน ดังนั้น
ธนาคารพาณิชย์จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
ธปท. จึงมีการกำหนดแนวนโยบายเพื่อกำกับดูแลสินเชื่อตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน รวมถึงแนวนโยบายด้านคุณภาพสินเชื่อเพื่อให้
ธนาคารพาณิชย์มีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม ธปท. จึงได้
กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ การให้สินเชื่อและลงทุนในกิจการที่ธนาคารพาณิชย์มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง
(Related Lending) และการกำกับการลงทุน
นอกจากนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีสาขากระจายอยู่ในหลายประเทศและมีการทำธุรกรรมกับคู่สัญญาในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ธปท. จึงได้กำหนดให้ คณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์จัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยงของประเทศคู่สัญญา และให้
ธนาคารพาณิชย์ประเมิน ควบคุม และติดตามความเสี่ยงของประเทศคู่สัญญาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นอกเหนือจากแนวทางข้างต้นแล้ว ธปท. ยังได้มีการกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งกรณีที่ผู้ประกอบ
ธุรกิจเป็นสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เพื่อให้การกำกับมีมาตรฐานเดียวกันและเป็นการดูแลหนี้ภาคครัวเรือน
ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

5. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
    ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถชำระหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญา เนื่องจาก
ไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ทันเวลา หรือไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอ หรือสามารถจัดหาเงินทุนได้แต่ด้วยต้นทุนที่สูง
เกินกว่าจะยอมรับได้ ซึ่งหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จนผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินฝากหรือเจ้าหนี้เรียกหนี้สินคืน
ก่อนครบกำหนด ซึ่งจะยิ่งทำให้ขาดสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้น ธปท.
จึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินฝากทุกประเภท เงินกู้ยืมระยะสั้น
จากต่างประเทศ และเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง และให้คณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์จัดทำนโยบายและแผนการบริหาร สภาพคล่อง

6. ความเสี่ยงด้านตลาด
    ความเสี่ยงด้านตลาด หมายถึง ความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์ หนี้สินและ
ภาระผูกพัน อันเกิดจากความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย ราคาตราสารทุน อัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ธปท. จึงมีแนวทาง
การกำกับดูแล ดังนี้
1. กำหนดแนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาด เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีการจัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านตลาด
ที่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงและดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับ (1) ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านราคาตราสารทุนใน
บัญชีเพื่อค้า (Trading Book) และ (2) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในทุกบัญชี ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์
มีทางเลือก 3 วิธีในการประเมินความเสี่ยงด้านตลาดเพื่อดำรงเงินกองทุน ได้แก่ Standardized Approach, Internal Model
Approach และ Mixed Approach
2. กำหนดหลักเกณฑ์การดำรงฐานะเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม
และสามารถสะท้อนความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3 . กำหนดแนวนโยบายกำกับดูแลความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในบัญชีเพื่อการธนาคาร (Banking Book) เพื่อให้สถาบันการเงินต้องประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และจัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในบัญชีเพื่อการธนาคาร

7. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
    ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ หมายถึง ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดธรรมาภิบาลและการขาดการควบคุมที่ดี
โดยอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิบัติงาน คน ระบบงาน หรือเหตุการณ์ภายนอก และส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุน
และชื่อเสียงของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎหมายด้วย ดังนั้น ธปท. จึงส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม
แนวนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ พัฒนาระบบข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
การใช้บริการจากผู้ให้บริการรายอื่น หลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน IT และแนวนโยบายเพื่อการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน
และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า หากมีเหตุการณ์ให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ หน่วยงานสำคัญ (Critical Business Functions)
จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหรือกลับมาดำเนินการได้ในเวลาที่เหมาะสม ธปท. จึงออกแนวปฏิบัติ เรื่อง การบริหารความต่อเนื่อง
ทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) และการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) รวมถึง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนฉุกเฉินด้าน IT และจัดให้มีระบบคอมพิวเตอร์สำรองนอก อาคารที่ตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก

8. เงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยง
    สถาบันการเงินจำเป็นต้องมีเงินกองทุนเพียงพอสำหรับรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหรือการก่อภาระผูกพันต่าง ๆ เป็นต้น เงินกองทุนจะช่วยรองรับมิให้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นมากระทบต่อผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ ธปท. จึงกำหนดแนวทางการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ใน 2 ด้าน คือ ด้านคุณภาพขององค์ประกอบของเงินกองทุน และด้านความเพียงพอของเงินกองทุน
ด้านที่ 1 ได้แก่ คุณภาพและองค์ประกอบของเงินกองทุน โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ เงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือเงินกองทุนหลัก (Core Capital) ได้แก่ ทุนที่ชำระแล้ว เป็นต้น และ เงินกองทุนชั้นที่ 2 หรือเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Supplement Capital) ได้แก่ เงินสำรองจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาที่ดินและอาคาร
ด้านที่ 2 ได้แก่ ความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่ง ธปท.ใช้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เป็นเครื่องมือวัด
ความเพียงพอของเงินกองทุนโดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ไทย ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่า 8.5% ทั้งนี้ ตามหลักการ Basel I เงินกองทุนใช้ในการรองรับความเสี่ยงในงบการเงินซึ่งคลอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตและความเสี่ยงด้านตลาด และเพื่อให้สามารถสะท้อนความเสี่ยงได้ดีขึ้น Basel II จึงได้เพิ่มเรื่องความเสี่ยงด้านปฏิบัติการด้วย

9. การคุ้มครองผู้บริโภค
    เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการ และมีหลักฐานการชำระเงินที่สามารถตรวจสอบได้ ธปท. จึงกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ และอัตรา
ค่าธรรมเนียม ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด นอกจากนี้ BOT Website ยังเผยแพร่ข้อมูลเปรียบเทียบสำหรับค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย
5 ประเภท คือ ค่ารักษาบัญชีที่เป็นเงินบาท ธุรกรรมฝาก-ถอน-โอนเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อและธุรกรรมเกี่ยวกับเช็ค
นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ให้สถาบันการเงินและ Non-Bank เพื่อให้การติดตามทวงถามหนี้มีมาตรฐานเดียวกันและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

10. ธรรมาภิบาล
      ธรรมาภิบาลเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่าในกิจการ และความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง
กับธรรมาภิบาลของธนาคารพาณิชย์มุ่งเน้นเรื่อง บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โครงสร้างของคณะกรรมการ การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส ซึ่งจะเอื้อต่อบทบาทของตลาดในการกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์อันเป็นพื้นฐานของระบบวินัยจากตลาด (Market Discipline) นอกจากนี้ ธปท.ยังได้จัดทำคู่มือสำหรับกรรมการสถาบันการเงินที่ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาล (สามารถดูได้จาก Website ของ ธปท.)

11. มาตรฐานการบัญชี
      สถาบันการเงินต้องบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย ธปท. ซึ่งในบางกรณี ธปท. อาจกำหนดหลักเกณฑ์การบันทึกบัญชีสำหรับรายการที่เป็นการเฉพาะสำหรับธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยให้มีหลักการ สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีหรือกำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีกำหนดไว้ เพื่อให้ การแสดงรายการในงบการเงินและการเปิดเผยข้อมูลมีความเพียงพอและโปร่งใส ซึ่งช่วยให้นักลงทุน และผู้ใช้งบการเงินมีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ

12. มาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
      โดยหลักการของการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นที่รับฝากเงินจากประชาชนนั้น ธปท.มีจุดมุ่งหมายให้สถาบันการเงิน
มีเสถียรภาพ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสถาบันการเงินจะเสียหายไม่ได้ แต่ความเสียหายนั้น ควรจำกัดให้อยู่ในวงแคบหรือมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมน้อยที่สุด
กฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ได้บัญญัติให้อำนาจแก่ ธปท. และกระทรวงการคลังในการแก้ไขจัดการสถาบันการเงินที่มีฐานะหรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การสั่งให้สถาบันการเงินระงับการดำเนินการบางส่วนหรือทั้งหมด แก้ไขฐานะหรือการดำเนินงาน การสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุน/ลดทุนถอดถอนผู้บริหารสถาบันการเงินนั้น หรือสั่งควบคุมกิจการ รวมถึงการสั่งเลิกกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อทำให้ทางการสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที อันจะเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามหรือกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และสร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน โดยทางการจะมีมาตรการดูแลผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน ในกรณีประเทศไทยที่ผ่านมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะคุ้มครอง
ผู้ฝากเงินตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของกองทุนฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ฝากเงินและดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น