โยคะเพื่อสุขภาพ
คุณทราบไหมว่า...หลายพันปีมาแล้ว ชาวตะวันออก เช่น ชาวจีนและชาวอินเดียโบราณ ค้นพบวิธีรักษาร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จากกิริยาท่าทางของสัตว์ในป่าลึกว่า มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง แล้วประดิษฐ์เป็นท่าโยคะออกมาได้หลายพันท่า หลาย ๆ ท่ามีชื่อเรียกตามชนิดสัตว์ อาทิ ท่าปลา ท่านกยูง ท่างูเห่า ฯลฯ
ทุกวันนี้ โยคะ (Yoga)ได้กลายมาเป็นวิธีการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกในการช่วยเสริมสร้างร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ อาทิ ปวดเข่า ปวดหลัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไปจนถึงอาจรักษาโรคที่เป็นหนักก็ได้ เพราะหลักการของโยคะอยู่ที่ เมื่อจิตใจสดชื่นแจ่มใสร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหนีหาย มีภูมิคุ้มกันโรคสูง
หลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสเรียนการบริหารร่างกายด้วยวิธีนี้มาจาก ท่านอาจารย์ชด หัศบำเรอ (ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) ปรมาจารย์ด้านโยคะ ซึ่งร่ำเรียนมาจากโยคีตนหนึ่งที่อินเดีย และพบว่า ศาสตร์แขนงนี้สามารถป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ซึ่งตรงกับแนวโน้มของวงการแพทย์สมัยใหม่เป็นอย่างดีนั่นเอง
เพราะปัจจุบัน วงการแพทย์สมัยใหม่หันมาเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มากกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว พูดตามพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า "อโรคยา ปรมา ลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ นั่นเอง
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำศาสตร์และวิทยาการของคนโบราณที่น่าสนใจนี้มาเผยแพร่ให้คุณทราบ เพื่อฝึกร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งจะส่งผลไปถึงอะไรอีกหลาย ๆ ด้าน โยคะ แตกต่างจากการออกกำลังกายแบบอื่น สามารถปฏิบัติได้ทุกเพศทุกวัย ลูกชายอายุ 10 ขวบ ของผู้เขียนปฏิบัติโยคะก่อนการเล่นเทนนิส เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความคล่องตัวในการเล่นกีฬา แต่ก่อนจะเริ่มการบริหารร่างกายด้วยโยคะ เราควรทำความเข้าใจกับหลักของโยคะเสียก่อน
โยคะเป็นการออกกำลังกายที่สามารถปฏิบัติได้ทุกสถานที่ที่ต้องการไม่ต้องมีอุปกรณ์ใด ๆ ช่วย สวมเสื้อผ้าที่สบายเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว (หรือจะไม่สวมเลยเช่นโยคีผู้ค้นคิดก็ได้) ขณะบริหารท่าโยคะ ที่เรียกกันว่า อาสนะ ต้องรักษาจังหวะการหายใจควบคู่กับจังหวะร่างกาย (แต่สำหรับเด็กเล็กยังไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมลมหายใจได้ ให้ทำท่าให้ถูกต้องก็พอ)
จุดสำคัญของการฝึกโยคะ คือ ผ่อนคลายจิตใจที่หมกมุ่นสับสน ให้มารวมอยู่กับการออกกำลังกายทำให้เกิดเป็นสมาธิขึ้น สิ่งที่ทำให้โยคะต่างไปจากการออกกำลังกายอื่นก็คือ เมื่อทำแล้ว ร่างกายและจิตใจได้รับการพักผ่อนเต็มที่หลังการปฏิบัติ คุณจะรู้สึกได้ว่าร่างกายเบา จิตใจแจ่มใส
การรับประทานอาหารถูกต้องควบคู่ไปกับการฝึกโยคะ จะทำให้การฝึกได้ผลดีขึ้นโดยยึดหลักโภชนาการที่ถูกต้อง การบริโภคอาหารที่มากเกินไป มันก็คือ ยาพิษ นั่นเอง การควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการฝึกโยคะนั้น หลายคนทำได้หลาย ๆ แต่หลายคนอาจยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจนไม่คิดจะฝึก แต่นั่นไม่ได้บังคับให้ "ต้อง" ทำ คุณอาจยังคงนิสัยการบริโภคแบบเดิมอยู่ได้ แต่เมื่อฝึกโยคะไปสักระยะหนึ่งแล้วพฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น บางคนอาจเลิกสิ่งเสพติดทั้งหลายได้เลย เช่น เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการของโยคะที่ รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ผู้ฝึกโยคะมานานนับสิบปี เคยกล่าวไว้นั้น ช่วยอธิบายให้เข้าใจลึกลงไปอีกว่าคนทั่วไปมักมองโยคะที่ท่าทางยาก ๆ ประเภทหัวลงดิน ตีนชี้ฟ้า แต่ โยคะที่แท้จริง แปลว่า "Easy Posture" เป็นท่าง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก การฝึกโยคะนอกเหนือจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมส่วน เลือดลมเดินสะดวกเหมือนการออกกำลังกายวิธีอื่นแล้วยังช่วยบริหารต่อมไร้ท่อในร่างกาย
โยคีโบราณพบว่าร่างกายคนเรามีต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนออกมา อันเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออารมณ์ต่อความรู้สึกของคนเรา การฝึกโยคะจะช่วยบริหารต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานสมดุลกัน ดังนั้น โดยหลักของโยคะ จะมีผลต่อการควบคุมสภาพจิตใจและอารมณ์ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของโยคะ มิได้อยู่ที่ "ท่าทาง" หากอยู่ที่ "ลมหายใจและความคิด" ในขณะที่ทำ ยกตัวอย่างเช่นการหายใจเข้า รับเอาพลังความรักเข้ามาสู่ตัวเรา หายใจออก เอาความเหนื่อยล้า ความเครียดออกไปจากตัวเรา ต้องคิดแต่สิ่งดี ๆ จิตใจก็จะสงบไม่ ยุ่งเหยิง เหตุที่โยคะเป็นท่าที่ต้องทำพร้อมกับควบคุมลมหายใจ การจดจ่อกับท่าทาง และการหายใจ ทำให้ใจคอว่อกแว่กยาก จึงส่งผลก่อให้เกิดเป็น สมาธิ สติ เป็นการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจไปด้วยพร้อม ๆ กัน
เป้าหมายสูงสุดจริง ๆ ของโยคะ คือ
- Physical Fit ร่างกายแข็งแรง
- Mentally Strong จิตใจเข้มแข็ง
- Spiritual Elevated มีสปิริต มีจิตใจที่เปิดกว้าง
นี้คือหลัก 3 ประการของโยคะ ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงอาชีพการงาน และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจชักจะท้อใจว่า การฝึกโยคะเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมเสียก่อน แต่ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น
คุณอาจเริ่มครั้งแรกในเวลาว่างเพียง 5 นาที แรก ๆ อาจขลุกขลัก ไม่เห็นผล แต่ขอให้ลองไปอีก 2-3 ครั้ง ฝึกแบบรีแล็กซ์ ผ่อนคลายอาจเปิดเพลงเบา ๆ คลอไปด้วยก็ได้ คุณจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นจิตใจและสมองแจ่มใสขึ้น ก็จะเกิดกำลังใจทำต่อ เพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ 10 นาที 15 นาที เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับคุณ
หากการจะเริ่มต้นที่ดีจริง ๆ คุณอาจต้องการคำแนะนำชี้แนะจากผู้รู้จริงหรือเคยฝึกปฏิบัติมาก่อน เพราะหากฝึกแบบผิด ๆ อาจเจ็บตัวจนเข็ดไปเลยก็ได้ หรือการฝึกแบบลองผิดลองถูก บางครั้งลองผิดมานานชินกับท่าที่ผิดไปแล้ว การแก้ไขให้ถูกต้องอาจยากยิ่งกว่าคนไม่เป็นเริ่มต้นฝึกก็ได้
เมื่อคุณฝึกโยคะด้วยความรู้สึกสนุกเห็นผลเบื้องต้นในแง่บวก จนคุณฝึกต่อไปเรื่อย ๆ เป็นกิจวัตรที่ขาดเสียมิได้ ผลอื่น ๆ จะตามมามากมายคือ สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จิตใจของเรามีส่วนสัมพันธ์กับร่างกาย ถ้าเครียดมาก จิตใจวุ่นวาย ภูมิคุ้มกันร่างกายจะน้อยลง สามารถเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย หายสุขภาพจิตดี ร่างกายก็สร้างภูมิคุ้มกันโรคดี อีกทั้งการฝึกโยคะ เป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง บริหารการทำงานของต่อมไร้ท่อให้สมดุลกัน โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่กล้ำกรายมาใกล้คุณเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น